สุขภาพ ออกกำลังกายหน้าร้อนอย่างไรให้ปลอดภัย

ตอนนี้เข้าสู่ช่วงหน้าร้อนแล้ว สำหรับคนที่รักสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เพียงแต่ในช่วงเวลานี้ จะต้องใส่ใจกับรายละเอียดบางอย่างมากขึ้น เพราะฤดูที่เปลี่ยนไป

ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้น

แน่นอนว่าด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ร่างกายของคนที่ออกกำลังกายต้องทำงานหนักขึ้นโดยเฉพาะหัวใจและปอด อีกทั้งยังทำให้เสียเหงื่อมากกว่าปกติ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายหนักถึง 1 ชั่วโมง อาจทำให้เสียเหงื่อได้มากถึง 0.5 – 1 ลิตร และท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้น หากไม่เตรียมตัวก่อนออกกำลังกายให้ดีก็อาจทำให้เกิด “พิษจากความร้อน” ขึ้น ได้แก่ การที่ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) เป็นตะคริว (Heat Cramps) จนกระทั่งถึงขั้น Heat stroke ได้ คือ ขาดน้ำจนผิวแห้ง แดง จับดูจะรู้สึกตัวร้อนเหมือนมีไข้สูง อาจถึงขั้นหมดสติ ชัก และถ้าไม่ได้รับการรักษาปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ระวังถ้าต้องออกกำลังกายต่อเนื่อง

ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงถือเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังในที่แจ้งสำหรับช่วงหน้าร้อน แต่ถ้าคุณต้องการใช้เวลามากกว่านั้น ควรระวังในเรื่องของการเสียน้ำเกินจากระดับที่มากกว่าปกติ ดังนั้น ควรหยุดพักถ้าเห็นว่าคุณเริ่มเหนื่อยหรือเริ่มหน้ามืดและอย่าฝืน

เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม

สำหรับคนที่ออกกำลังกายในห้องแอร์อย่างเช่นการเล่นฟิตเนส ตรงนี้คงไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ แต่คนที่ต้องออกกำลังกายกลางแจ้ง การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ถือเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ควรออกกำลังกายในช่วง 10 โมงถึง 4 โมงเย็น เพราะด้วยแสงอาทิตย์ยังจ้า และอากาศยังร้อน ซึ่งจะทำให้ร่างกายต้องทำงานหนัก

เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม

การวิ่งหรือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงท่ามกลางแสงแดด เช่น ขี่จักรยาน อาจจะไม่เหมาะกับช่วงหน้าร้อนเท่าไร ดังนั้นในช่วงนี้ ถ้ายังอยากออกกำลังกายอาจจะเลี่ยงไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ว่ายน้ำ แทน

สุขภาพ.jpg3

การดื่มน้ำสำคัญมาก

ให้ดื่มน้ำเปล่า 1 – 2 แก้ว ก่อนออกกำลังกายประมาณ 1 ชั่วโมง และดื่มน้ำอีก 1 แก้ว ก่อนออกกำลังกาย 15 – 30 นาที จากนั้นขณะออกกำลังทุกๆ 10 – 15 นาที ให้พักดื่มน้ำอีก 1/2 – 1 แก้ว และเมื่อออกกำลังกายเสร็จแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะรู้สึกกระหายน้ำหรือไม่ก็ตาม ให้ค่อยๆ ดื่มน้ำอีก 2 – 3 แก้ว (อย่าดื่มรวดเดียว)